วัฒนธรรมการสะสม และ Minimalism

SS 1: รากฐานการสะสม 

EP 2: การสะสม กับ กล่องบรรจุปัญญา <บทที่ 3> : นิเวศแห่งความรู้โอบรอบวัตถุ

วัตถุที่สะสมไว้ ประกอบด้วยเรื่องราว เรื่องเล่า คติความเชื่อ ตลอดจนเทคนิควิธีการสร้าง การใช้งาน และการหมดความนิยมลงไปของวัตถุ ตลอดจนแง่มุมต่างๆ อีกมากมาย กลายเป็นนิเวศแห่งความรู้โอบรอบวัตถุอยู่ สิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่าการใช้งานจริงของวัตถุนั้น

สองบทที่แล้ว เราจะลองตั้งคำถามว่า วัตถุที่สะสมทำไมถึงมีคุณลักษณะพิเศษ และมันมีกลไกใดบ้างที่ภูมิปัญญาสามารถเข้าไปบรรจุอยู่ได้ในนั้น 

ในบทนี้ เราจะมองไปรอบๆวัตถุ ซึ่งเราจะพบว่าไม่ใช่เฉพาะคุณค่าที่เกิดขึ้นจากวัตถุเท่านั้น แต่อาณาบริเวณรอบๆวัตถุ ยังถูกโอบรอบด้วยความรู้เป็นมิติที่ซ้อนทับอยู่มากกว่าที่สายตาเรามองเห็น 

  1. กาลเวลาที่โอบรอบวัตถุ

หากเคยอ่าน กรีก-โรมัน ในอุษาคเนย์ โดย ไมเคิล ไรท (Michael Wright) นอกจากเราจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุจากกรีก-โรมันที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล และข้ามกาลเวลา จนวัตถุดังกล่าวมาอยู่ในมือผู้สะสม เช่น เหรียญโรมัน

เหรียญโรมันที่พบ ถ้าเราจะนำไปใช้ชำระสินค้าเหมือนเหรียญทั่วไปก็คงทำไม่ได้แล้ว (และไม่ควรทำ) เพราะอะไร? เพราะคุณค่าเดิมของเหรียญ ถูกเปลี่ยนให้เป็นโบราณวัตถุ “ล้ำค่า” และ “ศักดิ์สิทธิ์” คุณค่าในฐานะวัตถุแบบเดิมๆ ถูกทำลายลง (decommoditizing) แต่มันก็ถูกแทนที่ด้วยคุณค่าใหม่ หรือถูกปรุงแต่งให้โดดเด่นขึ้น (singularizing) “แถมราคายิ่งสูงขึ้นกว่าเดิม”

ตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อกระบวนการนี้คือ “กาลเวลา”  กาลเวลาได้ทำให้ยุคที่เหรียญดังกล่าวเคยมีผู้คนใช้งานอยู่ ได้หมดสิ้นยุคสมัยแห่งการใช้งานลงไป เราจะพบว่า กาลเวลาสิ่งเดียวกันนี้ ทำให้วัตถุที่สะสม มีสภาพขัดแย้งกัน สะท้อนออกมาในเวลาเดียวกัน คือ “อมตะ” และ “มรณะ” เหรียญสามารถข้ามยุคข้ามสมัยมาได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็แสดงถึงความสิ้นสุดยุคสมัยหรือตายไปแล้วเช่นกัน ทวิลักษณ์ของวัตถุสะสมเช่นนี้เอง แสดงคุณค่าความรู้ที่อยู่รอบๆ วัตถุอย่างน่าอัศจรรย์ 

ตัวอย่างเหรียญโรมันนี้ เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นชัดเจนเกี่ยวกับทวิลักษณ์ อมตะ-มรณะ ของวัตถุสะสม แต่ยังมีนามธรรมอื่นๆ อีกมากมายที่วัตถุสะสมดูดซับไว้รอบๆ ยกตัวอย่าง หากเราพบรูปปั้นพระอวโลกิเตศวร (Avalokiteśvara) ชิ้นหนึ่ง ประติมานวิทยา (Iconography) ของวัตถุชิ้นดังกล่าว ก็มีสภาพที่ถูกกาลเวลากระทำเช่นเดียวกับเหรียญ และนั่นเองทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะ สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาที่วัตถุนั้นถูกผลิตขึ้นมา อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ภาษาที่พบบนโบราณวัตถุ เราจะพบว่าภาษามีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงของมันสามารถบ่งบอกยุคสมัยได้ในระดับหนึ่ง

ถ้าเปรียบเทียบในยุคปัจจุบัน หากเราพบโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่ง เช่น iPhone7 เราก็น่าจะพอเดาได้ว่าโทรศัพท์ที่พบน่าจะถูกผลิตในช่วงเวลาใด หรือหากเราอ่านเจอข้อเขียนซึ่งในนั้นพบคำว่า “จ๊าบ” เราก็น่าจะพอเดาๆ ได้ว่าเวลาที่เกิดสิ่งดังกล่าวอยู่ในช่วงเวลาใด 

นั่นหมายความว่า การพบเจอ จ๊าบ, iPhone7, พระอวโลกิเตศวร หรือเหรียญโรมันนั้น สิ่งที่พบได้หมดสิ้นสภาพการใช้งานหรือตายไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยังคงรักษาช่วงเวลาหรือยุคสมัยไว้ในตัว

  1. วิทยาการที่โอบรอบวัตถุ

ในหนังสือ การค้าสังคโลก : รายงานการสัมมนาวิเคราะห์เรือโบราณที่ค้นพบในอ่าวไทย โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ สุภาภรณ์ จรัลพัฒน์ ลิงค์: https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:26498 

หากเรามองไปที่วัตถุที่พบ เราจะพบวิทยาการมากมายที่รายล้อมทั้งหลายที่พบ การเผาสังคโลกต้องประกอบด้วยเทคโนโลยีหลายด้านมากๆ, เรือเดินสมุทรที่ต้องมีวิทยาการการต่อเรือ การเดินเรือ ภูมิศาสตร์ โลจิสติกส์ รายล้อมอยู่เต็มไปหมด 

หลายครั้งวิทยาการทั้งหลาย ยังถูกส่งต่อ หรือถูกต่อยอดมาถึงยุคปัจจุบัน แต่บางครั้งก็เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าวัตถุที่พบมีหน้าที่อย่างไร กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้วิทยาการที่โอบรอบวัตถุสูญหาย มันรอเวลาที่เราจะค้นพบคำตอบ

นี่เป็นเพียงแค่ 2 มิติที่เราหยิบยกขึ้นมานำเสนอ ยังมีมิติอีกมากมาย ทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง วิทยาศาสตร์ ความเชื่อ หลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถศึกษาได้จากการค้นพบวัตถุ หรือพูดได้ว่า วัตถุสามารถแสดงออกถึงความสามารถในโอบอุ้มภูมิปัญญามากมายให้อยู่รอบๆตัวมัน

ในบทถัดไป เราจะมองภาพแห่งการเคลื่อนไปบนเวลาและการส่งต่อภูมิปัญญาเหล่านั้นจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่เฉพาะการข้ามกาลเวลา ยังข้ามสถานที่จากดินแดนหนึ่งไหลไปยังดินแดนอื่น และสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ตลอดจนสะท้อนคุณค่าของสังคมมนุษย์ที่วัตถุเหล่านั้นไหลผ่านไป

#Collection #Minimalism #การสะสม #ปรัชญา #วัฒนธรรม 

ผู้เขียน : Kunstkammer

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *