วัฒนธรรมการสะสม และ Minimalism

Ep1: รากฐานการสะสม 

ตอนที่ 1 การสะสม กับ การบริโภค

Topic

  • การสะสมมีมาเนิ่นนาน เรามักจะพบว่า “มันมาพร้อมกับบริโภคนิยม หรือทุนนิยม และการแลกเปลี่ยนสินค้า”
  • การสะสมอาจถูกมองว่าอยู่ในส่วนของ “การบริโภค (อุปสงค์)” มากกว่า “การผลิต (อุปทาน)” แต่กระนั้นเราก็พบว่า มันมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกว่านั้น
  • มันอาจเป็นการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงคุณค่าของวัตถุหรือสสารจากฐานะวัตถุธรรมดาทั่วไป หรือวัตถุที่เป็นสินค้า แล้วทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
  • คุณค่าในฐานะสินค้าแบบเดิมๆ ถูกทำลายลง (decommoditizing) แต่มันก็ถูกแทนที่ด้วยคุณค่าใหม่ หรือถูกปรุงแต่งให้โดดเด่นขึ้น (singularizing) “แถมราคายิ่งสูงขึ้นกว่าเดิม”  

จอมโจรลูแปง (Lupin) ซีรีส์ทาง Netflix ที่เพิ่งออกอากาศซีซันแรกเมื่อต้นปี 2021 และซีซันสองเมื่อเร็วๆนี้ 

หลายฉากในซีรียส์เกิดขึ้นในห้องเล็กๆ ที่มีสิ่งของเก่าๆมากมายเก็บสะสมอยู่ – และฉากแรกของการโจรกรรมในซีรีส์นี้ คือ “สร้อยคอเครืองประดับ” อันเป็นของสะสมที่มีมูลค่ามาก ขณะที่มันกำลังถูกประมูลภายในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre Museum) แห่งฝรั่งเศส — 

นอกจากเรื่องจอมโจรลูแปงแล้ว เรายังพบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับของสะสมมากมายในวัฒนธรรมต่างๆ ท้่วโลก 

คำถาม คือ เหตุใดสสารชุดหนึ่งจึงกลายเป็นของสะสมและเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมมนุษย์ 

การตอบคำถามเหล่านี้ อาจต้องมองทั้งมิติ ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ จิตวิทยา มานุษยวิทยา ปรัชญา หรือมุมมองอื่นๆ  

สำหรับวันนี้ เราจะดูภาพรวมแต่จะเพิ่มระดับความลึกเพื่อให้เข้าใกล้แก่นสารหรือรากฐานบางอย่าง ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจ

วัฒนธรรมการสะสมมีมาเนิ่นนาน เรามักจะพบว่า “มันมาพร้อมกับบริโภคนิยม หรือทุนนิยม และการแลกเปลี่ยนสินค้า” เท่าที่พอจะมีหลักฐานคือ ตั้งแต่สมัยกรีกกว่า 400 ก่อนคริสตกาล 

เมื่อเกิดการค้าโลกยุคโบราณ สินค้าจากตะวันออก-ตะวันตกไหลไปมาระหว่างกันโดยเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะสินค้าจากตะวันออกใกล้ เช่น เปอร์เซีย ครั้งนั้น เกิดนักสะสมโดยเริ่มต้นจากผู้มีฐานะ 

เมืองไซออน (Sicyon) เมืองเพอร์กามุม (Pergamum) รุ่มรวยด้วยศิลปะ และพร้อมกันนั้น ก็ยิ่งเกิดนักสะสม และการสะสม จน “ทุกวัน ผู้คนสามารถหาของสะสมได้ตลอดเวลา” Rigby (1944)

เมื่อถึงจุดนี้ เราจึงเห็นว่า การสะสมถึงแม้จะมาพร้อมกับบริโภคนิยมหรือทุนนิยม และอาจมีความสัมพันธ์ระหว่างการสะสมกับการผลิตผลงานศิลปะ ซึ่งอาจถูกมองว่าอยู่ในส่วนของ “การบริโภค (อุปสงค์)” มากกว่า “การผลิต (อุปทาน)” แต่กระนั้นเราก็พบว่า มันมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกว่านั้น เพราะนักสะสมจำนวนหนึ่ง เป็นผู้ผลิตงานศิลปะไปพร้อมกันด้วย 
หมายความว่า การสะสมอาจเป็นแรงผลักหรือกระตุ้นการผลิตได้ด้วยกลไกบางอย่าง เช่น แรงบันดาลใจให้ศิลปิน (ไม่ใช่อยู่ในฐานะอุปสงค์ เพื่อกระตุ้นอุปทานเท่านั้น)

บางทฤษฎีขยายความรูปแบบของการบริโภคเพื่อการสะสม คือ เป็นการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงคุณค่าของวัตถุหรือสสารจากฐานะวัตถุธรรมดาทั่วไป หรือวัตถุที่เป็นสินค้า แล้วทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

การเปลี่ยนคุณค่าเช่นนี้ ทำให้วัตถุเหล่านั้นถูกดึงออกจากฐานะสินค้า และถูกบูชา (ritual act) และทำให้ประโยชน์ใช้สอยเดิมเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อการสะสม ทำลายคุณค่าในฐานะสินค้าลงไปแล้ว เราอาจจินตนาการว่า วัตถุเหล่านั้นตจะหมดสภาพหรือไร้คุณค่าในฐานะสินค้าลงไป… หามิได้! 

ตรงกันข้าม, มันกลับมีโอกาสสร้างกำไรให้ผู้สะสมได้อย่างงามในอนาคต ซึ่งนักค้าวัตถุทางวัฒนธรรมต่างพิจารณาถึงมูลค่าในอนาคตของวัตถุที่สะสมไว้ล่วงหน้าแล้ว

หรือพูดได้ว่า คุณค่าในฐานะสินค้าแบบเดิมๆ ถูกทำลายลง (decommoditizing) ก็จริง แต่มันก็ถูกแทนที่ด้วยคุณค่าใหม่ หรือถูกปรุงแต่งให้โดดเด่นขึ้น (singularizing) แถมราคายิ่งสูงขึ้นกว่าเดิม จนบางครั้งถึงกับบอกว่า “สูงจนหาค่ามิได้”

และนั่นเองที่ดึงดูดจอมโจรลูแปงและนักทำของเลียนแบบ ให้เข้าสู่วงการแห่งการสะสม ทุกยุคทุกสมัย

นอกจากมุมมองการสะสมในฐานะการบริโภคแล้ว การสะสมยังถูกมองในฐานะเครื่องมือที่บรรจุวัฒนธรรมของมนุษย์ แนวความคิดนี้ เราอาจเห็นภาพกิจกรรมของมนุษย์บางอย่าง เปลี่ยนสสารกลายเป็นของสะสม 

และของสะสมประเภทนี้ สามารถย้อนเวลาไปนาน และเก่าแก่กว่าบริโภคนิยมหรือทุนนิยม คืออาจเริ่มต้นตั้งแต่ การมีอารยธรรมของมนุษย์

สิ่งของที่พบในหลุมศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จึงถูกดึงมาใช้ในการอธิบายการสะสมชนิดนี้ 

สำหรับแนวคิดนี้เราจะเก็บไว้ในตอนต่อไป

ผู้เขียน : Kunstkammer

#Collection #Minimalism #การสะสม #ปรัชญา #วัฒนธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *